อาหารไทย 4 ภาค ที่ใครมาก็ต้องลอง!!!
เนื่องจากประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวยาว อาหารการกินก็จะแตกต่างกันออกตามวัตถุดิบที่หาได้จากแหล่งอาหารในพื้นที่นั้นๆด้วย ซึ่งอาหารพื้นบ้านเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็นภูมิภาคหลักๆได้ 4 ภาค ได้แก่ อาหารเหนือ อาหารภาคกลาง อาหารใต้ และอาหารอีสาน
อาหารภาคเหนือ
ในอดีตบริเวณภาคเหนือเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน จึงได้รับวัฒนธรรมหลากหลายจากชนชาติต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตประจำวันรวมทั้งอาหารการกินด้วย อาหารในภาคนี้มักจะทานคู่กับข้าวเหนียวเป็นหลัก แต่เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่อาหารส่วนใหญ่ที่นี้มักจะมีไขมันมาก ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล ไส้อั่ว แคบหมู เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เป็นด้วยภูมิประเทศบางส่วนที่ตั้งอยู่ในหุบเขาและบนยอดดอยที่สูงใกล้แหล่งป่าธรรมชาติ จึงนิยมนำพืชพันธุ์ในป่ามาปรุงเป็นอาหาร เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ผักแค บอน หยวกกล้วย ผักหวาน ทำให้เกิดอาหารพื้นบ้าน ชื่อต่าง ๆ เช่น แกงแค แกงหยวกกล้วย แกงบอน เป็นต้น
อาหารภาคใต้
เนื่องจากภาคใต้ของไทยเคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีนและชวาในอดีต ทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก จึงจะเห็นได้ว่าอาหารใต้ส่วนใหญ่มักจะใช้เครื่องเทศที่เผ็ดร้อนมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ มีกลิ่นฉุน อาจมาจากเป็นบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น และฝนตกตลอดปี การที่อาหารมีรสจัดจ้านก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยในเรื่องเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายและลดการเจ็บป่วยได้อีกด้วย แต่ด้วยอาหารที่จัดจ้านนั้นจึงต้องมี “ผักเหนาะ” คือผัดชนิดต่างๆหลากหลายอย่างมาทานคู่กันเพื่อช่วยลดความเผ็ดลง อาหารภาคใต้ที่เลื่องชื่อ เช่น แกงไตปลา, น้ำพริกกุ้งเสียบ, ข้าวยำน้ำบูดู, ผัดเผ็ดสะตอ, ใบเหลียงผัดไข่, ขนมจีนแกงปู เป็นต้น
อาหารภาคอีสาน
พูดถึงภาคอีสานแน่นอนสิ่งแรกที่ทุกคนมักจะนึกถึง คือ สัมตำ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่แห้งแล้ง ฝนตกน้อย อาหารส่วนใหญ่จึงมาจากการหมัก หรือตากแห้ง ซึ่งในอาหารแต่ละจานมักจะมีรสชาติเด่นของรสเค็มจากน้ำปลาร้า และรสเผ็ดจากพริกสดหรือแห้งนั้นเอง คนอีสานมักจะนิยมทานอาหารคู่กับข้าวเหนียวเหมือนกับภาคเหนือ เนื่องจากคนใน 2 ภาคนี้มักเป็นเกษตกรทำนาทำไร่ การกินข้าวเหนียวจะช่วยให้อิ่มและอยู่ท้องมากว่าข้าว อาหารของภาคอีสานที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่อง เช่น ส้มตำปลาร้า, ลาบเป็ด, ไส้กรอกอีสาน, ต้มแซ่บ เป็นต้น
อาหารภาคกลาง
ถือเป็นอาหารที่มีรสชาติอย่างหลากหลาย ลักษณะเด่นของอาหารภาคกลาง จะมีรสชาติครบ เปรี้ยว หวาน มันเค็ม เผ็ด มีความปราณีตในการตกแต่งจานอาหารสวยงาม และมักใช้พวกเครื่องแกงชนิดต่างๆ หรือ กะทิ เป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร เช่น ต้มข่าไก่, ฉู่ฉี่, ข้าวแช่, ผัดไทย เป็นต้น อาหารภาคนี้จึงมักจะเป็นที่ถูกปากในหมู่ชาวต่างชาติ เพราะมีรสชาติกลางๆ ไม่เผ็ดจนเกินไป
เมนูแนะนำ + สูตรลับจากก้นครัว
แกงไตปลา
วัตถุดิบ
- ไตปลาทู ½ ถ้วย
- น้ำเปล่า 2-3 ถ้วย
- หน่อไม้ ½ ถ้วย
- มะเขือเปราะ ½ ถ้วย
- ถั่วฝักยาว หั่นท่อน ½ ถ้วย
- เนื้อปลาทูย่าง 1 ถ้วย
- น้ำมะขามเปียก ½ ถ้วย
- หอมแดง 2 หัว
- ข่า 1 แง่ง
- ตะไคร้ 2 ต้น
- ใบมะกรูดฉีก 4 ใบ
- กะปิ ½ ช้อนโต๊ะ
วัตถุดิบพริกแกงไตปลา
- กระเทียมไทย 1 หัว
- พริกแห้ง 20 เม็ด
- หอมแดง 2 หัว
- พริกไทยขาว 1 ช้อนชา
- พริกไทยดำ 1 ช้อนชา
- ผิวมะกรูด 1 ลูก
- ตะไคร้สับ 1 ต้น
- ขมิ้น 1 แง่ง
วิธีทำแกงไตปลา
ขั้นตอนที่ 1 ตำพริกแกงไตปลา
- ใส่พริกแห้งตำให้ละเอียด แล้วใส่ผิวมะกรูด ตะไคร้สับ และขมิ้น โขลกให้ละเอียด ตามด้วยหอมแดง กระเทียม ส่วนพริกไทยขาว พริกไทยดำ ให้โขลกแยกแล้วใส่ทีหลังสุด ตำเครื่องแกงทั้งหมดให้ละเอียด
ขั้นตอนที่ 2 ต้มไตปลา
- ตั้งหม้อ ใส่หอมแดง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูดฉีก มะขามเปียก ตามด้วยไตปลา และน้ำเล็กน้อย ตั้งไฟให้เดือด แล้วนำมากรอก พักไว้
ขั้นตอนที่ 3 ต้มแกงไตปลา
- ตั้งหม้อต้มน้ำให้เดือด ตามด้วยเครื่องแกงที่ตำไว้ และกะปิคนให้เข้ากัน ตามด้วย ใบมะกรูด ไตปลาที่ต้มไว้ พอเดือดใส่หน่อไม้ มะเขือเปราะ เนื้อปลาย่าง ถั่วฝักยาว พอเดือดอีกครั้งให้ปิดไฟ ตักใส่ชามจัดเสิร์ฟ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : https://www.wongnai.com/recipes/gaeng-tai-pla
ซุปหน่อไม้
ส่วนผสม ซุปหน่อไม้
- ใบย่านาง 5-10 ใบ
- หน่อไม้รวก ขูดเป็นเส้นยาว
- น้ำปลาร้า 3 ช้อนโต๊ะ (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
- เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
- หอมแดงซอย 3 หัว
- น้ำมะนาว สำหรับปรุงรส
- น้ำปลา สำหรับปรุงรส
- พริกป่น ตามชอบ
- ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
- ผักชีฝรั่งซอย
- ต้นหอมซอย
วิธีทำซุปหน่อไม้
1. ขยี้ใบย่านางกับน้ำจนน้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม กรองเอาเฉพาะน้ำ เทใส่หม้อ เตรียมไว้
2. ต้มน้ำจนเดือด ใส่หน่อไม้รวกลงต้มจนน้ำเดือดอีกครั้ง ยกลงจากเตา พักทิ้งไว้จนเย็น จากนั้นบีบน้ำออกจากหน่อไม้ให้หมด แล้วใส่ลงในน้ำใบย่านางที่เตรียมไว้ ยกขึ้นตั้งไฟจนเดือด ใส่เกลือป่น และน้ำปลาร้าลงไป ต้มจนเดือด ยกลงจากเตา เตรียมไว้
3. ตักหน่อไม้ใส่อ่างผสม ใส่หอมแดงซอย ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา พริกป่น และข้าวคั่ว เคล้าผสมให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ ใส่ผักชีฝรั่งซอย และต้นหอมซอย เคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง ตักใส่จาน โรยใบสะระแหน่ พร้อมเสิร์ฟ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : https://cooking.kapook.com/view92663.html
น้ำพริกกะปิ
ส่วนผสม น้ำพริกกะปิ
- กระเทียม
- กะปิอย่างดี
- น้ำตาลปี๊บ / น้ำตาลทราย
- พริกขี้หนู
- มะนาว
- เกลือ / น้ำปลา
- มะเขือพวง
วิธีการทำ น้ำพริกกะปิ
- นำกระเทียบ พริก และกะปิ มาโขลกจนส่วนผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
- ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย น้ำปลา และนำมะนาว ตำและคลุกเคล้าให้เข้ากัน (สามารถเติมน้ำอุ่นได้เล็กน้อย)
- จากนั้นตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยมะเขือพวกและพริกแดง เป็นอันเสร็จ
น้ำพริกกะปิสามารถรับประทานคู่กับอาหารและผักต่างๆได้หลายชนิด เช่น ปลาทูทอด ไข่เจียวชะอม มะเขือยาวชุบไข่ ส่วนผักเคียง เช่น ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเปราะ ซึ่งสามารถทานได้ทั้งผักสดและผักต้ม
เห็นไหมว่าหลายๆเมนู ใช้เวลาในการทำเพียงไม่กี่นาทีและไม่ยากเลย เพียงเท่านี้ก็สามารถทำทานเองที่บ้าน ไม่ต้องง้อร้านเลย