อาหารประจำประเทศไทย ถือว่ามีประวัติความเป็นมาสืบทอดสานต่อกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น โดยผ่านการบอกเล่าจากทางเครือญาติและบันทึกที่เป็นทางการ จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ อาหารไทยมีลักษณะเฉพาะ ตั้งแต่เรื่องของรสชาติการปรุงแต่ง รูป รส กลิ่น ที่เข้ากันอย่างลงตัว มีความเข้มข้นและความจัดจ้านโดดเด่นเป็นพิเศษ อาหารไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อาหารคาว และ อาหารหวาน ในส่วนของอาหารคาวนั้นประกอบด้วยทุกรสชาติ ทั้งเค็ม หวาน เปรี้ยว และเผ็ด อาหารคาวที่ได้รับความนิยมทานกันบ่อยๆก็คือ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ มัสมั่น และส้มตำ เป็นต้น ส่วนอาหารหวาน ได้แก่ กล้วยบวชชี ขนมเปียกปูน ขนมใส่ไส้ (สอดไส้) ขนมเหนียว เป็นต้น
ผัดไทย
ผัดไทยเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน เดิมเรียกอาหารชนิดนี้ว่า “ก๋วยเตี๋ยวผัด” และได้รับการเปลี่ยนแปลงด้านรสชาติใหม่ตามอย่างอาหารไทยมากขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย” แต่ในปัจจุบันเรียกกันโดยย่อเหลือเพียงแค่ “ผัดไทย”
ผัดไทยโดยทั่วไปจะนำเส้นเล็กมาผัดด้วยไฟแรงกับไข่ ใบกุยช่ายสับ ถั่วงอก หัวไชโป๊สับ เต้าหู้เหลือง ถั่วลิสงคั่ว และกุ้งแห้ง ปรุงรสด้วยพริก น้ำปลา และน้ำตาล เสิร์ฟพร้อมกับมะนาว ใบกุยช่าย ถั่วงอกสด และหัวปลีเป็นเครื่องเคียง
ต้มยำกุ้ง
ต้มยำกุ้งเป็นอาหารไทยภาคกลางประเภทต้มยำ ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานไปทุกภาคในประเทศไทย เป็นอาหารที่รับประทานกับข้าว มีรสเปรี้ยวและเผ็ดเป็นหลักผสมเค็มและหวานเล็กน้อย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ต้มยำน้ำใส และ ต้มยำน้ำข้น
นำน้ำซุปไปตั้งไฟให้เดือด ใส่เครื่องต้มยำลงไป ได้แก่ พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด จากนั้นใส่กุ้งแล้วปรุงรสด้วย น้ำตาล น้ำปลา พริกขี้หนู น้ำพริกเผา ตามด้วยเห็ดฟาง ปิดเตาแก๊สแล้วค่อยปรุงรสด้วยมะนาว โรยเกลือนิดหน่อยเพื่อดึงรสเปรี้ยวหวานเค็มให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ต้มข่าไก่
ต้มข่าไก่นั้นคล้ายกับต้มยำแต่มีกะทิเป็นส่วนผสม น้ำแกงจึงมีสีขาวนวล ได้ความหอม หวาน มัน จากกะทิ และกลิ่นของสมุนไพรต่างๆ รวมทั้งรสเผ็ดจากพริกขี้หนู ปรุงให้ได้รสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม และต้องมีกลิ่นหอมเด่นของข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และน้ำมะนาวสด
ต้มน้ำซุปให้เดือด จากนั้นใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และก้านผักชี ใส่เนื้ออกไก่ลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลทราย ต้มจนเดือด จากนั้นใส่กะทิลงไปตามด้วยเห็ด แล้วปรุงรสด้วยน้ำมะนาว โรยหน้าด้วยพริกขี้หนู และผักชี
มัสมั่น
มัสมั่นเป็นอาหารไทยประเภทแกง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารมลายู ชาวไทยมุสลิมเรียกแกงชนิดนี้ว่า “ซาละหมั่น” แกงมัสมั่นแบบมุสลิมไทยออกรสหวานในขณะที่ตำรับดั้งเดิมของชาวมุสลิมออกรสเค็มมัน ซึ่งแกงมัสมั่นจัดเป็นอาหารชนิดแรกที่ปรากฏในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
นำหัวกะทิลงไปเคี่ยวจนกะทิแตกมัน จากนั้นนำพริกแกงมัสมั่นลงผัดให้หอมแล้วตามด้วยสะโพกไก่ลงไปผัดจนสุก เติมหางกะทิลงไป ปรับไฟให้เบาแล้วเคี่ยวต่อจนสะโพกไก่เปื่อย ปรุงรสด้วย น้ำปลา น้ำมะขามเปียก และน้ำตาลปี๊บ คนให้เข้ากัน ใส่ถั่วลิสง มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่และใบหยี่หร่า จากนั้นเคี่ยวต่ออีกสักพักเป็นอันเสร็จ
ส้มตำ
ส้มตำมีรสเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว ไทยภาคอีสานนิยมส้มตำรสเผ็ดเค็ม ส่วนไทยภาคกลางนิยมรสเปรี้ยวหวาน นิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง บางครั้งรับประทานกับขนมจีน เส้นเล็กลวก เส้นหมี่ และแคบหมู โดยมีผักสดเป็นเครื่องเคียง เช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง เป็นต้น
โขลกกระเทียม พริกขี้หนู ถั่วฝักยาวพอแตก ใส่มะเขือเทศ โขลกเบาๆ แล้วใส่เส้นมะละกอ โขลกคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลา ปูเค็มหรือน้ำปลาร้าต้มสุก น้ำมะขามเปียก น้ำมะนาว โขลกคลุกเคล้าให้ส่วนผสมเข้ากันดี ชิมรสตามใจชอบ ตักใส่จาน กินกับผักสด ยอดผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ยอดกระถิน ผักกาดขาว เป็นต้น