• Home
  • /
  • Blog
  • /
  • ประวัติและความสำคัญของ “วันมาฆบูชา”
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา , มาฆบูชา

ประวัติและความสำคัญของ “วันมาฆบูชา”

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 โดยวันมาฆบูชา 2563 ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” อันเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ในวันมาฆบูชาชาวพุทธจะไปทำบุญ ฟังธรรม และเวียนเทียนกันที่วัด วันนี้เราจึงนำสาระน่ารู้เกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามาให้อ่านกัน


“มาฆบูชา” ย่อมาจาก “มาฆปูรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดียหรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย


ความสำคัญของวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระสงฆ์จำนาน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ที่เวฬุวันมหาวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยพระภิกษุสงฆ์เหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า และบรรลุพระอรหันต์แล้วทุกๆองค์ ซึ่งในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการและวิธีปฏิบัติต่างๆ มีเนื้อหาโดยสรุปเป็นในความสำคัญคือ “ทำความดี ละเว้นความเชื่อ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”


ทั้งนี้ วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” ซึ่งมีความหมายดังนี้

  • จาตุร แปลว่า 4
  • องค์ แปลว่า ส่วน
  • สันนิบาต แปลว่า ประชุม

ดังนั้น “จาตุรงคสันนิบาต” จึงหมายความว่า “การประชุมด้วยองค์ 4” นั่นเอง


วันมาฆบูชา

ประวัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย

ในหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า


ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยมีพิธีพระราชกุศลในเวลาเช้า นมัสการพระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศราชวรวิหารและวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร จำนวน 30 รูป ฉันภัตตาหารในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


เมื่อถึงเวลาค่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ทรงจุดธูปเทียนนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ เมื่อสวดจบทรงจุดเทียน 1,250 เล่ม รอบพระอุโบสถ มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนาโอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์ เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย ส่วนเครื่องกัณฑ์ประกอบด้วย จีวรเนื้อดี 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เมื่อเทศนาจบ พระสงฆ์ 30 รูป สวดรับ


ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปี แต่มีการยกเว้นบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากบางครั้งตรงกับช่วงเสด็จประพาสก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชาในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกแห่ง นอกเหนือจากภายในพระบรมมหาราชวัง


วันมาฆบูชา , เวียนเทียน

ต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา


ขอขอบคุณสาระน่ารู้จาก : https://hilight.kapook.com/view/20696

Leave a Reply