เนื่องจากประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวยาว อาหารการกินก็จะแตกต่างกันออกตามวัตถุดิบที่หาได้จากแหล่งอาหารในพื้นที่นั้นๆด้วย ซึ่งอาหารพื้นบ้านเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็นภูมิภาคหลักๆได้ 4 ภาค ได้แก่ อาหารเหนือ อาหารภาคกลาง อาหารใต้ และอาหารอีสาน
อาหารภาคเหนือ
ในอดีตบริเวณภาคเหนือเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนามาก่อน จึงได้รับวัฒนธรรมหลากหลายจากชนชาติต่าง ๆ เข้ามาในชีวิตประจำวันรวมทั้งอาหารการกินด้วย อาหารในภาคนี้มักจะทานคู่กับข้าวเหนียวเป็นหลัก แต่เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่อาหารส่วนใหญ่ที่นี้มักจะมีไขมันมาก ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกอ่อง แกงฮังเล ไส้อั่ว แคบหมู เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เป็นด้วยภูมิประเทศบางส่วนที่ตั้งอยู่ในหุบเขาและบนยอดดอยที่สูงใกล้แหล่งป่าธรรมชาติ จึงนิยมนำพืชพันธุ์ในป่ามาปรุงเป็นอาหาร เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ผักแค บอน หยวกกล้วย ผักหวาน ทำให้เกิดอาหารพื้นบ้าน ชื่อต่าง ๆ เช่น แกงแค แกงหยวกกล้วย แกงบอน เป็นต้น
อาหารภาคกลาง
ถือเป็นอาหารที่มีรสชาติอย่างหลากหลาย ลักษณะเด่นของอาหารภาคกลาง จะมีรสชาติครบ เปรี้ยว หวาน มันเค็ม เผ็ด มีความปราณีตในการตกแต่งจานอาหารสวยงาม และมักใช้พวกเครื่องแกงชนิดต่างๆ หรือ กะทิ เป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร เช่น ต้มข่าไก่, ฉู่ฉี่, ข้าวแช่, ผัดไทย เป็นต้น อาหารภาคนี้จึงมักจะเป็นที่ถูกปากในหมู่ชาวต่างชาติ เพราะมีรสชาติกลางๆ ไม่เผ็ดจนเกินไป
อาหารภาคใต้
เนื่องจากภาคใต้ของไทยเคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีนและชวาในอดีต ทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก จึงจะเห็นได้ว่าอาหารใต้ส่วนใหญ่มักจะใช้เครื่องเทศที่เผ็ดร้อนมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ มีกลิ่นฉุน อาจมาจากเป็นบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น และฝนตกตลอดปี การที่อาหารมีรสจัดจ้านก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยในเรื่องเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายและลดการเจ็บป่วยได้อีกด้วย แต่ด้วยอาหารที่จัดจ้านนั้นจึงต้องมี “ผักเหนาะ” คือผัดชนิดต่างๆหลากหลายอย่างมาทานคู่กันเพื่อช่วยลดความเผ็ดลง อาหารภาคใต้ที่เลื่องชื่อ เช่น แกงไตปลา, น้ำพริกกุ้งเสียบ, ข้าวยำน้ำบูดู, ผัดเผ็ดสะตอ, ใบเหลียงผัดไข่, ขนมจีนแกงปู เป็นต้น
อาหารภาคอีสาน
พูดถึงภาคอีสานแน่นอนสิ่งแรกที่ทุกคนมักจะนึกถึง คือ สัมตำ ด้วยสภาพภูมิประเทศที่แห้งแล้ง ฝนตกน้อย อาหารส่วนใหญ่จึงมาจากการหมัก หรือตากแห้ง ซึ่งในอาหารแต่ละจานมักจะมีรสชาติเด่นของรสเค็มจากน้ำปลาร้า และรสเผ็ดจากพริกสดหรือแห้งนั้นเอง คนอีสานมักจะนิยมทานอาหารคู่กับข้าวเหนียวเหมือนกับภาคเหนือ เนื่องจากคนใน 2 ภาคนี้มักเป็นเกษตกรทำนาทำไร่ การกินข้าวเหนียวจะช่วยให้อิ่มและอยู่ท้องมากว่าข้าว อาหารของภาคอีสานที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่อง เช่น ส้มตำปลาร้า, ลาบเป็ด, ไส้กรอกอีสาน, ต้มแซ่บ เป็นต้น